รายการ สถานีสุวรรณภูมิ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน




คือบัณฑิตเพลิงชมพูครุศาสตร์
มหาบัณฑิตสมมาดสาวอักษร
จามจุรีศรีจุฬาถิ่นนาคร
ที่เสกพรให้เป็น"ครู"รู้ค่างาน

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

เมื่อ"วรรณพินิจ"คอลัมนิสต์ชานชาลาวรรณกรรมแห่งวารสารวิทยาจารย์เยี่ยมชมมุมซีไรต์สัมพันธ์

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ วรรณพินิจ คอลัมนิสต์ชานชาลาวรรณกรรมแห่งวารสารวิทยาจารย์เยี่ยมชมมุมซีไรต์สัมพันธ์ ณ ห้องสมุดโรงเรียนเทพลีลา ซึ่งครูนัยนา จิตรรังสรรค์ หัวหน้างานห้องสมุดและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ครูสอนภาษาไทยและผู้บุกเบิกวิชา "พินิจวรรณกรรมซีไรต์" ให้การต้อนรับและนำชมมุมซีไรต์สัมพันธ์ ที่ประดับประดาภาพกิจกรรมของบรรดากวีและนักเขียนซีไรต์ร่วมกับนักเรียนวิชาพินิจวรรณกรรมซีไรต์ โดยคุณวรรณพินิจได้แสดงความชื่นชมให้กำลังใจตลอดจนถึงบอกกล่าวข่าวสารเรื่องราวเกี่ยวกับงานแถลงข่าวซีไรต์ของปีนี้ ตามประสาคอซีไรต์ ก่อนอำลาต่างมอบของที่ระลึก...โดยข้อมูลการเยี่ยมเยียนและพูดคุยได้นำมาตีพิมพ์ในวารสารวิทยาจารย์ ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม....
ขอขอบคุณที่ให้กำลังใจ...













วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

"ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ปี ๒๕๕๓ โดย ซะการีย์ยา อมตยา

ประกาศผลแล้วอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ มีมติให้ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" กวีนิพนธ์เขียนโดย ซะการีย์ยา อมตยา กวีหนุ่มจากหมู่บ้านเล็กๆแห่งเทือกเขาบูโดจังหวัดนราธิวาส ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ในปีนี้
เรื่องราวใน ไม่มีหญิงสาวในบทกวี สะท้อนแนวคิดเพื่อการดำรงอยู่และดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ไม่มีพรมแดน เป็นกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์(free verse) ที่ผสมผสานวรรณศิลป์ ปรัชญาและศิลปะเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลายมิติ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลจนถึงระดับสังคม ไม่ผูกกับยุคสมัย ไม่มีพรมแดน ข้ามมิติเวลา และมิติพื้นที่ มีความลุ่มลึก กระตุ้นให้เกิดจินตนาการขบคิดและคิดต่อ
ซะการีย์ยา อมตยา เป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นนักแปลและเป็นเว็บมาสเตอร์ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.thaipoetsociety.com ที่รวมของกวีและผู้สนใจงานกวีนิพนธ์หลากหลายมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงวรรณกรรม



(ภาพจาก Thai Poet Society)

(ภาพจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

มุมมองของคุณมนตรี ศรียงค์ ต่อการเรียนการสอนวิชาพินิจวรรณกรรมซีไรต์

๑๒. คุณมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี ๒๕๕๐ จากผลงานกวีนิพนธ์ โลกในดวงตาข้าพเจ้า แสดงทัศนะว่า


"ผมไม่เคยเชื่อว่าเด็กของเรา หรือไม่ว่าที่ไหนของโลกจะไม่รักการอ่าน สังเกตจากเด็กเล็กๆที่อ่านหนังสือไม่ออกดู จะเห็นพวกเขาชอบเปิดหนังสือต่างๆ หากมีสมุดปากกาให้ พวกเขาก็รู้ว่าจะใช้อย่างไรโดยไม่ต้องสอน นั่นคือการเรียนรู้ เด็กเล็กๆรู้ว่าชีวิตต้องเรียนรู้จากทุกสิ่ง แต่อะไรที่ทำให้พวกเขารู้ว่าหนังสือคือสิ่งที่เรียนรู้ได้ นี่เป็นความน่าสงสัย และน่าสงสัยต่อไปว่าอะไรหนอที่ทำให้เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น แล้วห่างเหินไปจากการเปิดหนังสืออ่าน คำตอบที่หลายตัวเลือก และมักจะรวบยอดเรียวไปที่ระบบเชิงโครงสร้างของการศึกษา การศึกษาซึ่งแนบแน่นอยู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก


ปัจจุบันมีโครงการรักการอ่านจำนวนมาก แต่เมื่อตามดูผลในระยะยาว กลับพบว่าพวกเขาเหล่านั้นห่างเหินกิจกรรมไปเสียเกือบหมด ผู้จัดทำโครงการก็ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ทุกครั้ง ดังนั้น การมีการเรียนการสอนวิชาพินิจวรรณกรรมซีไรต์ จึงเป็นการช่วยส่งเสริมอีกแรงหนึ่งสำหรับเด็กๆของเรา การวางโครงของวิชานี้โดยการนำวรรณกรรมซีไรต์มาเป็นหลัก ก็เพราะรางวัลนี้เป็นที่รับรู้และยอมรับในวงกว้าง จึงเป็นการง่ายสำหรับเรียกความสนใจของเด็กให้หันมาสนใจการอ่าน เพื่อต่อไปพวกเขาเติบโตขึ้น และรู้ว่าการอ่านไม่ใช่การเสียเวลา แต่มันคือคลังข้อมูลหนึ่งที่ในสถาบันการศึกษาระดับไหนก็ตามไม่มีสอน"